ได้โอกาสสัมภาษณ์งานแล้ว ถ้ากลัวว่าจะพลาดงาน 9 ข้อนี้ “อย่าหาทำ” นะครับ

 

1 ไปสาย :  สัมภาษณ์งานยังมาสาย ถ้ารับเข้ามาทำงานจะขนาดไหน !! โดนหักคะแนนตั้งแต่ยังไม่เริ่มสัมภาษณ์เลยครับ และข้ออ้างก็ไม่ช่วยอะไรด้วย “ขอโทษค่ะ รถติดหนักมากจริง ๆ” … ถ้ารู้ว่ารถติดก็ต้องเผื่อเวลาไว้เยอะ ๆ ครับ ไปก่อนเวลาปลอดภัยสุด HR ประทับใจตั้งแต่แรกเจอ เรียกคะแนนได้ง่ายดายเลยครับ

 

2 แต่งตัวไม่รู้จักกาลเทศะ :  เรื่องนี้ทุกคนต้องรู้อยู่แล้ว จะมาบอกว่า “ไม่รู้จริง ๆ หนูเพิ่งจบใหม่” หรือบางคนบอก “นิยามคำว่าสุภาพ เหมาะสมของแต่ละคน มันไม่เหมือนกัน”  ...  Google ครับ

 

3 ไม่รู้ว่าตัวเองเก่งเรื่องอะไร :  บางคนเรียนจบมา ทำงานมานาน ยังหาตัวเองไม่เจอเลยว่าชอบอะไร เก่งอะไร และอยากทำอะไรเพื่อไปสู่เป้าหมายใด คุณคนเดียวเท่านั้นที่รู้ได้และต้องรู้ เพราะถ้าตอบไม่ได้ องค์กรก็ไม่รู้ว่าจะรับคุณเข้ามาทำงานอะไร

 

4 ไม่เตรียมตัวสอบข้อเขียน :  อาจไม่ใช่ทุกองค์กรที่มี (แต่) ก็ต้องเตรียมตัวครับ ศึกษาทำความรู้จักองค์กรให้ดี ธุรกิจเขาทำอะไร ตำแหน่งงานที่คุณไปสัมภาษณ์จะต้องทำอะไร ถ้าไม่รู้ข้อมูลใดๆ มาแม้แต่นิดเดียว ก็ตกตั้งแต่ข้อเขียนเลยครับ

 

5 อีโก้สูงเกิน :  เป็นคนเก่ง การศึกษาดี หน้าตาดี ฐานะดี อะไรก็ดี มันทำให้คุณมีโอกาสในหลาย ๆ เรื่องมากกว่าคนอื่นอยู่แล้ว โดยเฉพาะการหางานยิ่งเป็นเรื่องง่ายไปเลย ถ้าคุณพร้อมที่จะนำความเก่งนั้นเข้ามาร่วมงานกับคนในองค์กรได้ (แต่) การอวดเก่ง หลงตัวเองขั้นสุด ฉันจบเกียรตินิยม ทำงานได้ดีกว่าคนอื่นแน่ ๆ เงินเดือนฉันต้องเยอะกว่าเด็กป.ตรีทั่วไป … เอิ่มมม !! มันไม่ได้ทำให้คุณดูดี ดูเก่งขึ้นเลยครับ มีแต่จะทำให้การหางานกลายเป็นเรื่องยากสำหรับคุณไปเลยล่ะครับ

 

6 ไม่มั่นใจในตัวเองเลย :  แบบนี้ก็เรียกว่ามีอีโก้ต่ำเกิน (ดีที่สุดต้องปานกลางครับ) เรียนจบปริญญามาขนาดนี้ ต้องมั่นใจสิครับ ว่าคุณทำได้ สร้างความน่าเชื่อถือโดยให้เหตุผลด้วยว่า ทำไมถึงมั่นใจว่าทำได้ ... เช่น เรียนด้านนี้ ฝึกงานด้านนี้มาโดยตรงหรือเคยทำงานด้านนี้มาก่อน ไม่ใช่เขาถามอะไรก็กลัว ตอบไม่เต็มปาก ต้องพูดอย่างมั่นใจครับ ในเมื่อมันคือเรื่องจริง ไม่มีใครว่าอะไรอยู่แล้ว ถ้ามัวไม่กล้าพูด ไม่กล้าถาม มีแต่รอเขาถามมาก็ตอบคำ แต่อยากได้งาน มันก็ไม่ได้หรอกครับ

 

7 แถไปเรื่อย :  ถ้าตอบไม่ได้ แล้วพยายามแถไปเรื่อย ออกนอกเรื่องไปจนหาทางกลับไม่เจอ คะแนนก็ศูนย์อยู่ดีอาจติดลบด้วยซ้ำ

ยอมรับไปเลยครับว่าคุณไม่รู้ หรือถ้ารู้แค่บางเรื่องก็ตอบเท่าที่รู้ แต่ก็ต้องแสดงความมุ่งมั่นให้เขาเห็นด้วยว่า คุณพร้อมที่จะศึกษาและพัฒนาตัวเองให้รู้ในเรื่องนั้นเพื่อทำงานที่นี่ คุณอาจสอบถามเขาเกี่ยวกับสิ่งที่ยังไม่รู้ เพื่อที่คุณจะได้ไปศึกษาทำความเข้าใจก่อนที่จะเข้ามาทำงานในวันแรกก็ยิ่งดีเลย

 

8 ขาดทักษะการแก้ปัญหา :  ถ้าเจอคำถามที่ไม่ได้เตรียมคำตอบมา ไม่ต้องตกใจ ตั้งสติให้ดี จริง ๆ เขาไม่ได้ต้องการคำตอบขนาดนั้นหรอก แต่เขาอยากเห็นวิธีแก้ปัญหาของคุณ สมมติว่า อยู่ดี ๆ ก็ให้คิดโปรโมชั่นส่งเสริมการตลาด คุณอาจคิดไม่ออก แล้วห้องก็เงียบไปนาทีกว่าแล้ว แทนที่จะแถเพราะคิดว่าจะรอด สู้หาทางแก้ไขโดยการถามกลับไปก่อนดีกว่าครับ เช่น เป้าหมายของโปรโมชั่นนี้คืออะไร ? ซึ่งมันจะเป็นตัวช่วยให้คุณคิดคำตอบต่อไปได้ครับ แต่ถ้าเขาแล้วแต่คุณเลย ก็ต้องอิงจากธุรกิจขององค์กรนั้น ซึ่งถ้าคุณศึกษามาเป็นอย่างดีแล้ว ก็ไม่ยากเลยครับ

 

9 นินทาที่ทำงานเก่า : เขาก็จะมองว่า ถ้าคุณเข้ามาทำงานที่นี่แล้ววันนึงลาออกไปหาที่ใหม่ คุณก็ต้องทำแบบนี้อีก เขาคงไม่อยากรับเข้ามาให้องค์กรเสี่ยงเสียหายหรอกครับ หรือถ้าเป็นน้องจบใหม่ ก็อย่าเผลอนินทาอาจารย์หรือที่ฝึกงานนะครับ ไม่งั้นเสี่ยงสัมพลาดงานแน่ ๆ ครับ